ทำความรู้จักรถยนต์พลังงานไฟฟ้า
ตั้งแต่มีสงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันทั่วโลกผันผวน ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างไม่แน่นอน ทำให้หลายคนหันมาศึกษาและสนใจรถยนต์พลังงานไฟฟ้ากันมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภายในประเทศไทยหรือต่างประเทศ แต่ปัจจุบันรถยนต์พลังงานไฟฟ้ายังไม่แพร่หลายนัก ส่วนที่ออกสู่ท้องตลาดแล้ว ราคาก็สูงลิบลิ่ว จนเกินเอื้อมสำหรับประชาชนทั่วไป ที่จะหาซื้อมาใช้กัน
สำหรับประเทศไทยเรา เพิ่งจะมีการประกาศลดภาษีรถยนต์ไฟฟ้าที่ประกอบในประเทศเมื่อไม่นานมานี้ ส่งผลให้ความนิยมรถยนต์ประเภทนี้มากขึ้นตาม และมียอดขายที่พอไปได้ในงานมอเตอร์โชว์ที่ผ่านมา
EV-Electric Vehicle หรือรถยนต์พลังงานไฟฟ้า เราเรียกสั้น ๆ กันว่า EV ซึ่งปัจจุบันมีการพัฒนาไปอย่างก้าวไกล ต่างจากเมื่อก่อน หากจะซื้อรถสักคันมีให้เลือกแค่เครื่องยนต์เบนซิน ดีเซล และCNG แต่ปัจจุบันมีให้เลือกมากมาย เช่น HEV , PHEV , BEV และ FCEV ทั้งหมดนี้มันคืออะไร อ่านมาถึงตรงนี้เริ่มจะงง ๆ กันแล้วใช่ไหมคะ
Klearbaan จะมาไขข้อข้องใจสำหรับใครที่สนใจรถยนต์ในช่วงนี้ ว่าแต่ละประเภทที่กล่าวมามันคืออะไรบ้าง แตกต่างกันอย่างไร
1. HEV (Hybrid Electric Vehicle) หรือ “ ไฮบริด” รถประเภทนี้จะมีการทำงานคู่กันระหว่างเครื่องยนต์เบนซิน หรือดีเซล ร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า ซึ่งผู้ผลิตแต่ละค่ายก็มีการจะออกแบบต่างกัน คือบางรุ่นเครื่องยนต์จะมีหน้าที่หลักในการขับเคลื่อน และมอเตอร์ไฟฟ้าชาร์จกระแสไฟฟ้ามาเก็บในแบตเตอรี่ และนำมาใช้ช่วยขับเคลื่อน ส่วนอีกแบบระบบจะกลับกัน คือมอเตอร์ไฟฟ้าทำหน้าที่หลักขับเคลื่อน และเครื่องยนต์จะทำหน้าที่เป็น Generator ในการปั่นกระแสไฟฟ้าเข้ามาเก็บในแบตเตอรี่
ข้อดีของรถไฮบริดคือ ถ้าไฟฟ้าหมด ไม่ต้องชาร์จไฟ เพียงใช้น้ำมันตามปกติ
2.PHEV (Plug-in Hybrid Electric Vehicle) โดยจะมีความคล้ายกับรถไฮบริด คือมีเครื่องยนต์เบนซินและดีเซล ทำงานร่วมกับมอเตอร์ไฟฟ้า และแบตเตอรี่เหมือนกัน แต่มีขนาดใหญ่กว่า รวมถึงระบบนั้นสามารถนำมาเสียบปลั๊กชาร์จไฟได้ตามชื่อ เมื่อมีแบตเตอรี่ลูกใหญ่กว่าจึงทำให้สามารถขับในระบบไฟฟ้าได้เลย โดยมอเตอร์ไฟฟ้าจะช่วยทั้งชาร์จกระแสไฟฟ้าและขับเคลื่อน ทำให้ขับในระบบไฟฟ้าไปได้ไกล แต่เมื่อกระแสไฟฟ้าในแบตเตอรี่หมด เครื่องยนต์ก็จะเข้ามารับหน้าที่ต่อในการขับเคลื่อน
3. BEV (Battery Electric Vehicle) หรือบางคนก็เรียก 100% EV หรือ Pure Electric Vehicle รถประเภทนี้ไม่มีการใช้น้ำมันเลยค่ะ ใช้เพียงแค่แบตเตอรี่ และมอเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น เป็นส่วนประกอบหลักในการขับเคลื่อนรถยนต์และรถแบรนด์ Tesla ของคุณอีลอน มัสก์ รายใหญ่ของผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ก็จัดอยู่ในประเภทของ BEV (Battery Electric Vehicle) เช่นกัน
แต่ยังมีข้อจำกัดอยู่ในเรื่องของแบตเตอรี่ที่จะต้องเก็บพลังงานไฟฟ้าเพื่อให้วิ่งได้ระยะทางไกล ๆ และให้แรงขับที่ดีตลอดทาง ก็จะต้องแลกมากับขนาดที่ใหญ่และน้ำหนัก รวมถึงการชาร์จที่ยังมีสถานีค่อนข้างน้อย
โดยรถยนต์พลังงานไฟฟ้าของบางแบรนด์นั้นสามารถขับได้ไกลมากถึง 400-600 กิโลเมตร ต่อการชาร์จหนึ่งครั้ง
4. FCEV หรือ Fuel Cell Electric Vehicle โดยเทคโนโลยีนี้มีการพัฒนาและนำมาใช้มานานแล้ว แต่ว่าไม่เป็นที่นิยมมากนักสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคล จึงมักจะถูกนำไปใช้กับรถสาธารณะเพราะการสร้างและควบคุมสถานีเติมไฮโดรเจนได้ง่าย โดยโครงสร้างขอ FCEV จะมีแผงเซลล์เชื้อเพลิงหรือ Fuel Cell Stack และถังแรงดันสูงเพื่อเก็บไฮโดรเจนในรูปแบบของเหลว เพื่อส่งไฮโดรเจนและอากาศที่มีออกซิเจนเข้าไปสู่แผงเซลล์เชื้อเพลิงเพื่อทำปฏิกิริยากันในการสร้างกระแสไฟฟ้าไปขับเคลื่อนมอเตอร์ไฟฟ้า และชาร์จแบตเตอรี่
ได้ทำความรู้จักกับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าประเภทต่าง ๆ ไปแล้ว ใครสนใจแบบไหนต้องถามรายละเอียดที่โชว์รูม
คราวนี้มาดูกันว่าข้อควรระวังของการเลือกรถยนต์ไฟฟ้าแบบ EV มีอะไรบ้าง เพื่อเป็นแนวทาง
1. รถยนต์ EV ยังไม่สามารถตอบโจทย์ประเภทการเดินทางได้หลากหลายเท่ารถน้ำมัน
2. การใช้งานและระยะทางยังไม่ครอบคลุมเท่ารถน้ำมัน
3. ต้องมีการวางแผนการเดินทางเมื่อออกนอกเส้นทางหรือหลงทาง
4. สถานีชาร์จรถยังมีไม่มากพอ หากไฟฟ้าไปหมดตามชนบทแย่เลยค่ะ
แล้วรถ EV เหมาะกับใครบ้าง ?
1. คนที่ต้องการลองเทคโนโลยีใหม่ ๆ
2. สำหรับคนที่ต้องการประหยัดค่าน้ำมัน
3. คนที่มีที่ชาร์จรองรับอาจจะเป็นที่พักอาศัยและตามเส้นทางที่ใช้ประจำ
เมื่อคิดจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้าแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องการชาร์จไฟฟ้า หากจะใช้ไฟฟ้าที่บ้านเป็นหลัก สิ่งแรกที่จะต้องดูก็คือ ระบบไฟฟ้าในบ้าน ถ้ามิเตอร์และสายไฟที่ใช้ภายในบ้านมีขนาดเล็กเกินไป การชาร์จรถไฟฟ้าที่กินไฟพอ ๆ กับแอร์เครื่องหนึ่งแต่สายไฟที่เล็กอาจก่อให้เกิดปัญหาเพลิงไหม้ได้
ดังนั้นต้องตรวจสอบขนาดของมิเตอร์ไฟภายในบ้าน ปกติขนาดมิเตอร์ของบ้านพักอาศัยทั่วไป มีขนาด 15(45) 1 เฟส (1P) หมายถึงมิเตอร์ขนาด 15 แอมป์ (A) ใช้ไฟได้ 45(A) สำหรับคนที่ต้องการชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าในบ้าน ทางการไฟฟ้าแนะนำให้เปลี่ยนขนาดมิเตอร์เป็น 30 (100) โดยปรับให้มิเตอร์มีขนาดใหญ่ขึ้น ป้องกันการใช้ไฟฟ้าที่มากเกินไป ระบบไฟเป็น 3 เฟส
ถ้าบ้านหลังใหญ่ ใช้ไฟเยอะ มีเครื่องปรับอากาศและเครื่องใช้ไฟฟ้าจำนวนมากก็มีความจำเป็น แต่โดยทั่วไปแล้วบ้านหลังเล็ก ๆ ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนไปใช้ระบบไฟแบบ 3 เฟสที่มีราคาสูง เนื่องจากใช้ไฟไม่มาก มีเครื่องปรับอากาศแค่ 1-2 เครื่อง รวมถึงมีเครื่องใช้ไฟฟ้าขนาดเล็กที่ไม่กินกระแสไฟ แตกต่างไปจากบ้านหลังใหญ่ที่มีเครื่องปรับอากาศจำนวนมากและมีเครื่องใช้ไฟฟ้ามากกว่าบ้านหลังเล็ก ๆ
สำหรับใครที่ไม่ต้องการซื้อคันใหม่มีทางเลือกดังนี้
โดยกรมขนส่งยังออกมาแจ้งข่าวว่า เราสามารถเอารถคันเก่าของเราไปเปลี่ยนเป็นรถยนต์พลังงานไฟฟ้าได้ด้วยเช่นกัน หรือเรียกว่ารถดัดแปลงไฟฟ้า อู่ที่รับดัดแปลงรถยนต์พลังงานไฟฟ้านี้ยังมีไม่มาก เพราะกว่าจะทำได้แต่ละคันต้องใช้เวลานาน และราคายังค่อนข้างสูงมากอยู่ประมาณ 300,000 - 700,000 บาทต่อคัน โดยทางอู่จะรับประกันระบบให้ 2-3 ปี และมีวิศวกรเซ็นรับรองแบบให้
โดยอัตราภาษีรถประจำปีที่ต้องชำระให้กับกรมขนส่งทางบกก็จะถูกลงเมื่อเราไปทำการเปลี่ยนเป็นระบบเครื่องยนต์ไฟฟ้า เป็นการสนับสนุนการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเพื่อประหยัดพลังงานอีกด้วย
เรื่องโดย Chidapa Chaisawad
ที่มาข้อมูล Greenery